5 ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี
น้องๆ รู้ไหมว่า “อัตราการเกิดปฏิกิริยา” จะเกิดเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสิ่งใดบ้าง อุณหภูมิ พื้นที่ผิว มีผลไหมนะ ? สำหรับเนื้อหาในวันนี้พี่กัปตันจะพาไปดูปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยานะครับ น้องๆพร้อมกันหรือยังเอ่ย งั้นไปดูกันเลย
ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยา มี 5 ปัจจัย ได้แก่
1. ธรรมชาติของสารตั้งต้น
เมื่อสารตั้งต้นเกิดการชนกันจะเกิดการสร้างพันธะใหม่พร้อมกับการสลายพันธะเก่า ดังนั้นหากสารตั้งต้นมีโครงสร้างที่ซับซ้อน มีพันธะที่แข็งแรงจะทำให้เกิดปฏิกิริยาได้ยากและช้ากว่าสารตั้งต้นที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนเพราะต้องใช้พลังงานในการทำลายพันธะเก่านั่นเองครับ
2. พื้นที่ผิวของสารตั้งต้น
การบดสารตั้งต้นให้มีขนาดเล็ก ละเอียด เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวและเพิ่มโอกาสในการชนกันของโมเลกุลและจะยิ่งทำให้โมเลกุลนั้นชนกันในทิศทางที่เหมาะสมขึ้น
3. อุณหภูมิ
การเพิ่มอุณหภูมิเป็นการเพิ่มพลังงานจลน์ทำให้โมเลกุลของสารเคลื่อนที่ชนกันถี่ขึ้น แรงขึ้น และมีโอกาสชนกันในทิศทางที่เหมาะสมขึ้นเช่นกันกับการเพิ่มพื้นที่ผิวเลยครับ
4. ตัวเร่งปฏิกิริยา/ตัวหน่วง
– ตัวเร่งปฏิกิริยา จะช่วยลดพลังงานก่อกัมมันต์ของปฏิกิริยา และทำให้สารตั้งต้นสามารถเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น
– ตัวหน่วง ส่งผลต่อพลังงานก่อกัมมันต์ของปฏิกิริยาที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเกิดปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นได้ยากหรืออาจมีผลยับยั้งการเกิดปฏิกิริยา แต่จะไม่มีผลต่อการเกิดผลิตภัณฑ์ของปฏิกิริยานะครับ
5. ความเข้มข้นของสารตั้งต้น
การเพิ่มความเข้มข้นจะเพิ่มจำนวนโมเลกุลของสารตั้งต้นและเพิ่มโอกาสในการชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้นด้วยครับ
น้องๆ อย่าลืมกลับไปทบทวนและลองทำโจทย์กันดูนะครับ ว่าสรุป 5 ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาของพี่กัปตันนั้น จะทำให้น้องๆทำโจทย์กันได้หรือเปล่า สู้ๆนะครับ พี่กัปตันเป็นกำลังใจให้
#เคมีจะไม่ยากถ้าน้องๆเปิดใจ